ผู้สูงอายุ ออกกำลังกายอย่างไรจึงเหมาะสม

Last updated: 7 ก.พ. 2565  |  1211 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้สูงอายุ ออกกำลังกายอย่างไรจึงเหมาะสม

วัยสูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายมีการเสื่อมสภาพ เนื่องจากร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งยังพบว่าบางรายมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจร่วมด้วย ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา สามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งต้องกระทำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาอื่นที่เกี่ยวกับสุขภาพ ก่อนออกกำลังกายอาจต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว


การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

1. เพิ่มการไหลเวียนโลหิต เพิ่มการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด (แอโรบิค)
2. เพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อส่วนต่าง ๆ เป็นการออกกำลังกายฝืนแรงต้าน
3. เหยียดยืดข้อต่อส่วนต่างๆ ป้องกันอาการข้อยืดติด
4. ฝึกการทรงตัว


การออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้มีความสมดุล ในบางครั้งยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคม กรณีออกกำลังกายนอกบ้าน จึงเป็นผลดีต่อสภาพจิตใจโดยตรง ประโยชน์ของการออกกำลังกายมีอยู่หลากหลาย สรุปได้ดังนี้


ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
1. ช่วยชะลอความชรา
2. ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี
3. กล้ามเนื้อแข็งแรงและทนการทำงานได้นานขึ้น
4. กล้ามเนื้อและข้อต่อยืดหยุ่นดีขึ้น
5. การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ มีการประสานกันดีขึ้น
6. ช่วยเรื่องการทรงตัว
7. เพิ่มภูมิต้านทาน
8. ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
9. ช่วยลดน้ำหนักตัว
10. ช่วยลดความเครียด
11. ทำให้นอนหลับพักผ่อนดี 

สำหรับการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ มีข้อควรระวังมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่กล้ามเนื้ออ่อนแอกว่าวัยอื่น การทรงตัวอาจทำได้ไม่ดีเท่ากับวัยอื่น และที่สำคัญผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายโดยตรง


สาธิตท่าออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ โดยสามารถบริหารได้ด้วยตัวเอง
1. ท่าบริหารข้อนิ้วมือ
ยกมือขึ้นระดับหน้าอก
กำนิ้วมือแล้วแบออก โดยพยายามแบออกให้เต็มที่ เพื่อบริหารข้อนิ้วมือ
กำแล้วแบสลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกเมื่อย
หมายเหตุ สามารถทำที่บ้านได้ หรือทำขณะนั่งดูโทรทัศน์ก็ได้ หากยกแขนขึ้นให้มืออยู่บริเวณเท่ากับไหล่ จะช่วยบริหารแขนและหัวไหล่ไปด้วย เพราะมีการเกร็งแขนและหัวไหล่

2. ท่าป้องกันหัวไหล่ติด
ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งขึ้น ให้แขนแนบติดใบหู (หากไม่สามารถยกให้ติดใบหูได้ เป็นสัญญาณว่าไหล่เริ่มติด ให้ใช้มืออีกข้างช่วยดัน)
เหยียดให้เต็มที่
เมื่อรู้สึกเมื่อยให้คลายออกแล้วเหยียดอีกครั้ง ทำไปเรื่อย ๆ
ทำเหมือนเดิมกับแขนอีกข้าง


3. ท่าบริหารข้อมือ
ยกแขนขึ้นมา
กำมือแล้วหมุน
หมุนไปข้างหน้าและหมุนกลับ


 

ที่มา: กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้